ข่าวประชาสัมพันธ์

ราชมงคลพระนคร ร่วมพัฒนาชุมชนเลื่อนฤทธิ์ พร้อมปั้นแหล่งเรียนรู้-แสดงผลงานใจกลางเมือง

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) ร่วมกับบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ลงนามความเข้าใจ ในการหาแนวทาง เพื่อพัฒนาชุมชนและสนับสนุนพื้นที่สำหรับการแสดงผลงานทางวิชาการและวิจัย ของอาจารย์และนักศึกษาราชมงคลพระนคร โดยมีดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี และคุณปิยะ ชื่นชมเดช ประธานกรรมการ ลงนามร่วมกัน ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

                         ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการนำความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยเข้ามายกระดับชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเข้มแข็งและมีทักษะสอดคล้องตามความต้องการ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ส่งผ่านความรู้ทางด้านกลยุทธ์การตลาด โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 9 คณะ อาทิ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะบริหารธุรกิจ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มาร่วมถ่ายทอดความรู้และพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ภายในพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ยังเป็นแหล่งแสดงผลงานทางวิชาการ วิจัย และศิลปะ สำหรับอาจารย์ นักศึกษา เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับเยาวชนอีกด้วย

 

ด้านคุณปิยะ ชื่นชมเดช เปิดเผยว่า บริษัทชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เช่าเดิมในเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภท ก งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมชุมชน ประจำปี 2566 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระราชูปถัมภ์ โครงการจึงมีความตั้งใจอนุรักษ์ชุมชนให้คงอยู่ท่ามกลางความเจริญในยุคสังคมเมืองสมัยใหม่ ซึ่งเป็นความยากและท้าทายอย่างยิ่ง โดยพัฒนาที่แห่งนี้เป็นแหล่งการค้า แหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สินค้า และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ชุมชนเข้มแข็งและมีเอกภาพ สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่หมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าโดยชุมชนเพื่อส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป
“จุดเด่นของชุมชนเลื่อนฤทธิ์คือ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ที่อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นจุดศูนย์กลางการค้าขายเชื่อมระหว่างชุมชนเยาวราช ชุมชนท่าเตียน และชุมชนเจริญกรุง จึงเอื้อกับการค้าขายหรือจัดกิจกรรมสำคัญ ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างมาก ผมจึงมองว่าสถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะนำองค์ความรู้ด้านวิชาการ โดยเฉพาะงานวิจัย การบริการวิชาการมาต่อยอดให้ชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน” คุณปิยะ กล่าว